ประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 15/2568

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 15/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

นายพัฒนะ กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การส่งต่อ การติดตามดูแล และการแก้ไข ซึ่งในส่วนของมิติการแก้ไข ได้มีการนำการเรียนไปให้น้องแล้ว 1,345 คน (ชั้นประถมฯ 233 คน ม.ต้น 765 คน ม.ปลาย 347 คน) และมีการส่งต่อแล้ว 793 คน (ชั้นประถมฯ 165 คน ม.ต้น 395 คน ม.ปลาย 233 คน) พร้อมกันนี้ ได้มีการอบรมสร้างความรู้ “ระบบสารสนเทศการนำการเรียนไปให้น้อง OBEC Zero Dropout” ให้แก่บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนในสังกัด จำนวน 5,000 กว่าโรง

.

ส่วนการดำเนินการต่อไป ได้เริ่มกิจกรรม “สงกรานต์นี้กลับบ้าน พาลูกหลานกลับมาเรียน” ใน 5 จุดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2568 ในลักษณะโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School จัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และเปิดรับสมัครเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียน จากนั้นจะมีการอบรม “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ online” 2 รุ่น ให้แก่โรงเรียนนำร่อง 939 โรงเรียน ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อกำกับ ติดตาม ให้ความรู้เรื่องรูปแบบการเรียน การสร้างสื่อสร้างสรรค์ และเมื่อเปิดภาคเรียนจะมีการติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และหารูปแบบวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อให้การนำการเรียนไปให้น้องมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป

.

“อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญ คือมาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 โดย สพฐ. ได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ฯและสถานศึกษาในสังกัด ให้มีมาตรการเตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียนเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน 2. ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน อาทิ กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน 100% การสอนซ่อมเสริม/ชดเชย เสริมทักษะเพิ่มเติมให้กับนักเรียน กิจกรรมแนะแนว (Coaching) เป็นต้น 3. ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ โดยประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสถานศึกษา ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม 4. ด้านการจัดสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดย สพฐ. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณฯ ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ทั้ง 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้นักเรียนได้ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง และ 5. ด้านแผนเผชิญเหตุ ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุในสถานศึกษา รวม 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย รวมถึงการตรวจตราเฝ้าระวังสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ให้เข้าถึงนักเรียนได้ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” ในทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมรับการเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>สพฐ. เดินหน้าพาเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา พร้อมกำชับสถานศึกษามีมาตรการปลอดภัยก่อนเปิดภาคเรียน – OBEC<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 14/2568

วันที่ 8 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 14/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ รายงานการสำรวจสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2568) พบว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบ รวม 2,944 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว (เสียหายเล็กน้อย/ไม่เสียหาย) จำนวน 2,512 แห่ง กลุ่มสีส้ม (เสียหายปานกลาง) จำนวน 353 แห่ง และกลุ่มสีแดง (เสียหายหนัก) จำนวน 66 แห่ง โดยจังหวัดที่มีสถานศึกษารายงานผลกระทบเข้ามามากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เชียงใหม่ 247 แห่ง 2. กรุงเทพมหานคร 214 แห่ง 3. ลำปาง 169 แห่ง 4. พิจิตร 163 แห่ง 5. กาญจนบุรี 157 แห่ง ทั้งนี้ สพฐ. ได้ประสานวิศวกรอาสาซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 กว่าคน ลงพื้นที่สำรวจสถานศึกษาในกลุ่มสีส้มและสีแดงก่อน เพื่อยืนยันว่าอาคารสถานที่ในโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายสามารถใช้งานได้หรือไม่ หากอาคารใดเสียหายหนักไม่สามารถใช้งานได้ต้องสั่งหยุดใช้ไปก่อน แต่หากเสียหายปานกลางหรือเสียหายน้อย ก็จะรีบดำเนินการของบประมาณเพื่อมาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จทันก่อนวันเปิดภาคเรียน 1/2568 ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้

.

สำหรับการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 และ ม. 4 ซึ่งได้เลื่อนจากวันที่ 29-30 มีนาคม มาเป็นวันที่ 5-6 เมษายน 2568 เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว นั้น โดยภาพรวมพบว่าสามารถจัดการสอบได้เรียบร้อยดี ไม่มีการร้องเรียนหรือพบเรื่องทุจริตใดๆ และมีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกรณีหากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จัดสอบ โดยในวันที่ 4 เมษายน โรงเรียนทุกแห่งที่เป็นสถานที่จัดสอบได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวแบบเสมือนจริง ซึ่งทุกโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมากและได้ผลตอบรับที่ดีจากนักเรียนและผู้ปกครอง ต่อไปอาจมีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำทุกเดือน ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวเท่านั้น ต้องมีการรับมือภัยจากเหตุอื่นๆ ด้วย เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ แผนการอพยพ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนและครูมีทักษะชีวิต สามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยทั้งหลายได้ ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนที่พลาดหวังในการสอบ สามารถตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนและจำนวนที่นั่งว่าง ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ภายในวันที่ 11 เมษายน จากนั้นยื่นความจำนงผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 17-22 เมษายน ประกาศผล 24 เมษายน และมอบตัว 27 เมษายน 2568 ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าบุตรหลานจะมีที่เรียนอย่างแน่นอน

.

“นอกจากนี้ ด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน การเรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ลงสู่ห้องเรียน โดยเราได้วิเคราะห์แล้วพบว่าในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติอยู่แล้ว ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ 1. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ชั้น ป.6, ม.1-3, ม.4-6) 2. สุขศึกษาและพลศึกษา (ชั้น ป.1-3, ป.6) และ 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชั้น ป.6, ม.6) และในหนังสืออ่านเพิ่มเติม ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการรับมือภัยพิบัติ (ชั้นประถม-มัธยม) เพียงแต่เป็นการสอนให้ความรู้อย่างเดียว ยังไม่ได้สอนการปฏิบัติจริง จากนี้ก็จะมีการกำชับไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษาทุกแห่ง ให้มีการนำหลักสูตรลงสู่การปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง เพื่อให้นักเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยจากภัยพิบัติต่างๆ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว



ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1055928/<<<