การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 26/2568

สพฐ. ผนึกกำลังช่วยชาวสวนลำไย ดึงโครงการอาหารกลางวันหนุนผลผลิตเกษตรกรทั่วไทย พร้อมเดินหน้าลดภาระครู เร่งเติมเต็มตำแหน่งว่างให้ครบถ้วน
.
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 26/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญที่เราได้หารือกันในที่ประชุม นั่นคือเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ประสบปัญหาลำไยล้นตลาดอยู่ในขณะนี้ โดย สพฐ. มีโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งในโปรแกรม “Thai School Lunch” กำหนดว่าในทุกมื้อของอาหารกลางวันนักเรียนต้องมีผลไม้ด้วย เราก็จะใช้โครงการนี้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งตอนนี้เป็นที่น่ายินดีว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ มีความประสงค์ที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย รวมกันได้ถึง 80 - 90 ตันแล้ว เป็นการสนับสนุนเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และส่งเสริมการขายสินค้าในประเทศของพวกเราด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตหากมีสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ผัก หรือผลไม้ต่างๆ ที่มีราคาตกต่ำหรือล้นตลาด ทาง สพฐ. เรามีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนปกติ ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษซึ่งจัดอาหาร 3 มื้อ รวมถึงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่มีเด็กพักอาศัยอยู่ประจำ โรงเรียนเหล่านี้จะช่วยเหลือสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มอาชีพได้ เพราะการศึกษาต้องอยู่ควบคู่กับประชาชน หากประชาชนเดือดร้อน พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อน เราก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือกันในส่วนที่เราทำได้อย่างเต็มที่ครับ
.
ต่อมาคือเรื่องการลดภาระครู ที่ สพฐ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ได้เน้นย้ำกำชับให้ความสำคัญ วันนี้ สพฐ. ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะลดภาระครูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดเรา โดยมอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กำหนดรายการและจะออกเป็นประกาศ สพฐ. เลยว่า เรื่องใดหรือโครงการไหนที่ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไปแล้ว เพื่อลดภาระครูให้เห็นผลอย่างชัดเจน ส่วนข่าวที่จะนำข้าราชการครูมาเปลี่ยนเป็นสายสนับสนุนนั้น เป็นข้อเสนอที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำแหน่งที่จะนำมาเปลี่ยนนั้นไม่ใช่ตำแหน่งครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการนำเอาตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการในสถานศึกษาบางแห่งที่เกินเกณฑ์มาเปลี่ยนเป็นข้าราชการ 38ค(2) เพื่อให้มีบุคลากรสายสนับสนุนปฏิบัติงานต่างๆ เพิ่มยิ่งขึ้น เช่น งานธุรการ การเงินและพัสดุ เพื่อลดภาระงานครูและเพิ่มเวลาในการสอนให้แก่ครูได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือความเดือดร้อนกับครูในระบบ
.
สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานธุรการโรงเรียนนั้น ขณะนี้ สพฐ. ดำเนินการยื่นข้อเสนอไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับให้เป็นลูกจ้างชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว หากได้รับการอนุมัติ ธุรการโรงเรียนจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยกลุ่มที่ได้รับอยู่ 9,000 บาท จะได้ปรับเป็นเจ้าพนักงานธุรการ และมีค่าจ้างเพิ่มเป็น 13,920 บาท ส่วนกลุ่มที่ได้รับอยู่ 15,000 บาท จะได้ปรับเป็นนักจัดการงานทั่วไปและรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 บาท รวมถึงได้รับสิทธิวันลา เงินสมทบประกันสังคม และสวัสดิการต่างๆ ในฐานะบุคลากรของรัฐตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่เนื่องจาก สพฐ. มีโรงเรียนกว่า 29,000 โรง ทำให้จำนวนธุรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอให้ธุรการกลุ่มที่ได้เป็นนักจัดการงานทั่วไปดูแล 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่ให้ธุรการโรงเรียนต้องเดินทางไกลหรือสลับโรงเรียนบ่อย ๆ เพื่อไม่เป็นภาระเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย
.
“อีกเรื่องที่สำคัญคือการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่ง รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งตอนนี้ได้เปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว สำหรับตำแหน่งรอง ผอ.เขตพื้นที่ มีผู้สมัคร 1,304 คน ตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 598 คน ตำแหน่งรอง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 3,767 คน และตำแหน่งครูผู้ช่วย มีผู้สมัครมากที่สุดถึง 77,053 คน ซึ่งเราจะดำเนินการจ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดสอบ เพื่อความบริสุทธิ์ โปร่งใสและเป็นธรรม และจะดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน  หรือก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2568 เพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างทุกตำแหน่ง ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว






   

ข่าวโดย : ยศุเนตร ปานธรรม

ที่มา >>>สพฐ. ยินดีผู้บริหาร ศธ. ชุดใหม่ นำทัพยกระดับการศึกษาสู่สากล เน้นย้ำความปลอดภัยโรงเรียนแนวชายแดน พร้อมใช้ระบบสำนักงานดิจิทัลเต็มรูปแบบ 8 ก.ค.นี้ – OBEC<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 25/2568


สพฐ. เตรียมขับเคลื่อนนโยบาย รมว.ศธ.-รมช.ศธ. ต่อเนื่อง พร้อมยกเครื่องบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก 

.

วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 25/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ ท่านได้กล่าวว่า พร้อมจะเดินหน้าสานต่อนโยบายดี ๆ ของ รมว.ศธ. ท่านเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนและครูทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกันแบบ “ครอบครัวเดียวกัน” เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาอย่างมีพลัง และได้ฝากสิ่งที่ต้องการผลักดันเพิ่มเติม คือ การพัฒนาสวัสดิการและสร้างขวัญกำลังใจครู โดยการลดภาระงาน การปรับเกณฑ์วิทยฐานะและการโยกย้ายให้เป็นธรรม รวมถึงการรับฟังความต้องการจากพื้นที่ต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อวางนโยบายในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาฯ ที่เน้นย้ำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอให้ผู้บริหารและบุคลากรของ สพฐ. ติดตามแนวนโยบายซึ่งจะออกอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ เพื่อนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่องต่อไป

.

อีกเรื่องสำคัญที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ คือเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้สั่งการให้สำนักที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กขนาดต่าง ๆ โดยระบุถึงวิธีการบริหารจัดการของแต่ละโรงเรียน การใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัด รวมทั้งหารูปแบบ นวัตกรรมการบริหารที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กประสบผลสำเร็จ โดยให้แยกตามบริบทของโรงเรียน ขนาดของโรงเรียนและแยกตามภาค พร้อมทั้งปรับคณะทำงานบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ใหม่ โดยมอบหมายให้นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมระบุหน้าที่ของคณะทำงานให้ชัดเจน 

.

สำหรับความคืบหน้าของการจ้างอัตราจ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สพฐ. ได้ดำเนินการขอทำความตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลังแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงาน ก.พ. นำเสนอเข้าที่ประชุม คปร. เพื่อพิจารณากำหนดจำนวนกรอบอัตรากำลังลูกจ้างชั่วคราว โดยถ้าหากได้รับการอนุมัติให้อัตราจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้ว เงินเดือนและคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ให้ปฏิบัติตาม ว 1058 ของกระทรวงการคลัง  นอกจากนี้ จะมีการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาธุรการโรงเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับด้านการบัญชี การเงินและพัสดุ โดยจะเปิดลงทะเบียนและเริ่มการอบรมผ่านระบบออนไลน์ ภายในเดือนสิงหาคม 2568 นี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป


 






ข่าวโดย : ยศุเนตร ปานธรรม

ที่มา >>>สพฐ. ยินดีผู้บริหาร ศธ. ชุดใหม่ นำทัพยกระดับการศึกษาสู่สากล เน้นย้ำความปลอดภัยโรงเรียนแนวชายแดน พร้อมใช้ระบบสำนักงานดิจิทัลเต็มรูปแบบ 8 ก.ค.นี้ – OBEC<<<


ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 5/2568

 

.วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 5/2568 ซึ่งมีนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting).

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการศึกษาของ สพฐ. โดยมีประเด็นหารือที่น่าสนใจ อาทิ การอภิปรายแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ รวมถึงการรายงานความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3 – 6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3) พุทธศักราช 2568 การพิจารณาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคลในศูนย์การเรียน กรณีศูนย์การเรียนที่มีผู้เรียนเกินกว่าหนึ่งร้อยคน การขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเตรียมสรุปผลงานของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในโอกาสใกล้ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นต้น

ข่าวโดย : เธียรัท รัตนถา

ที่มา >>>รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 5/2568 – OBEC<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 24/2568

วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 24/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับเรื่องแรกในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการชุดใหม่ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ พวกเราชาว สพฐ. ทั้งส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต และสถานศึกษาอีกกว่า 2.9 หมื่นโรง ขอยินดีต้อนรับและเชื่อมั่นในผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน ว่าจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สพฐ. พร้อมรับนโยบายเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยไปสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
.
เรื่องต่อมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นี้ จะมีการจัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อ สพฐ. และได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านร่วมงาน จึงขอเชิญชวนผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงผลงานที่ผ่านมา และร่วมกันออกแบบอนาคตการศึกษาไทยต่อไป จากนั้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 สพฐ. จะเริ่ม Kick-off การใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของ สพฐ. อย่างเป็นทางการ ในชื่อระบบสำนักงานดิจิทัล OBEC-DO (OBEC Digital Office) โดยทุกสำนักของ สพฐ. จะใช้ระบบดิจิทัลในการรับ-ส่งงาน เสนองาน ลงนามเอกสารต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ยกเว้นเอกสารที่จำเป็นยังคงใช้กระดาษตามเหมาะสม
.
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ สพฐ. ขอแสดงความห่วงใยต่อโรงเรียนในพื้นที่ชายแดน 7 จังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัย โดยได้มอบหมายให้สำนักอำนวยการจัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนอพยพ และแผนป้องกันภัย แก่โรงเรียนในพื้นที่ มีการจัดระดับความเสี่ยงเป็นสี คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่สีแดง ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนและมีความเสี่ยงสูงจำนวน 239 แห่ง ได้มีการเตรียมความพร้อม ซักซ้อมแผน และจัดสร้างหลุมหลบภัยที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สพฐ. ขอยืนยันความพร้อมรับมือเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคน
.
“ในโอกาสครบรอบ 22 ปี ก้าวสู่ปีที่ 23 ของ สพฐ. ขอเน้นย้ำแนวทางการทำงานเชิงรุกและมุ่งเป้าสู่การพัฒนานักเรียนเป็นหลัก พร้อมเดินหน้า “ลดภาระครู คืนเวลาสอนให้ครู คืนเวลาเรียนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ” โดยมอบหมายให้สำนักติดตามและประเมินผลฯ และสำนักนโยบายและแผนฯ รวบรวมรายการภาระงานของโรงเรียนทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและคัดกรองงานที่สามารถลดหรือยกเลิกได้ เหลือเฉพาะสิ่งจำเป็นอย่างแท้จริง เป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น และสามารถทุ่มเทให้กับห้องเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมารบกวนให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวโดย : ยศุเนตร ปานธรรม

ที่มา >>>สพฐ. ยินดีผู้บริหาร ศธ. ชุดใหม่ นำทัพยกระดับการศึกษาสู่สากล เน้นย้ำความปลอดภัยโรงเรียนแนวชายแดน พร้อมใช้ระบบสำนักงานดิจิทัลเต็มรูปแบบ 8 ก.ค.นี้ – OBEC<<<