สพฐ. ผนึกกำลังช่วยชาวสวนลำไย ดึงโครงการอาหารกลางวันหนุนผลผลิตเกษตรกรทั่วไทย พร้อมเดินหน้าลดภาระครู เร่งเติมเต็มตำแหน่งว่างให้ครบถ้วน
.
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 26/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญที่เราได้หารือกันในที่ประชุม นั่นคือเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ประสบปัญหาลำไยล้นตลาดอยู่ในขณะนี้ โดย สพฐ. มีโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งในโปรแกรม “Thai School Lunch” กำหนดว่าในทุกมื้อของอาหารกลางวันนักเรียนต้องมีผลไม้ด้วย เราก็จะใช้โครงการนี้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งตอนนี้เป็นที่น่ายินดีว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ มีความประสงค์ที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย รวมกันได้ถึง 80 - 90 ตันแล้ว เป็นการสนับสนุนเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และส่งเสริมการขายสินค้าในประเทศของพวกเราด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตหากมีสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ผัก หรือผลไม้ต่างๆ ที่มีราคาตกต่ำหรือล้นตลาด ทาง สพฐ. เรามีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนปกติ ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษซึ่งจัดอาหาร 3 มื้อ รวมถึงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่มีเด็กพักอาศัยอยู่ประจำ โรงเรียนเหล่านี้จะช่วยเหลือสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มอาชีพได้ เพราะการศึกษาต้องอยู่ควบคู่กับประชาชน หากประชาชนเดือดร้อน พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อน เราก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือกันในส่วนที่เราทำได้อย่างเต็มที่ครับ
.
ต่อมาคือเรื่องการลดภาระครู ที่ สพฐ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ได้เน้นย้ำกำชับให้ความสำคัญ วันนี้ สพฐ. ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะลดภาระครูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดเรา โดยมอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กำหนดรายการและจะออกเป็นประกาศ สพฐ. เลยว่า เรื่องใดหรือโครงการไหนที่ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไปแล้ว เพื่อลดภาระครูให้เห็นผลอย่างชัดเจน ส่วนข่าวที่จะนำข้าราชการครูมาเปลี่ยนเป็นสายสนับสนุนนั้น เป็นข้อเสนอที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำแหน่งที่จะนำมาเปลี่ยนนั้นไม่ใช่ตำแหน่งครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการนำเอาตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการในสถานศึกษาบางแห่งที่เกินเกณฑ์มาเปลี่ยนเป็นข้าราชการ 38ค(2) เพื่อให้มีบุคลากรสายสนับสนุนปฏิบัติงานต่างๆ เพิ่มยิ่งขึ้น เช่น งานธุรการ การเงินและพัสดุ เพื่อลดภาระงานครูและเพิ่มเวลาในการสอนให้แก่ครูได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือความเดือดร้อนกับครูในระบบ
.
สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานธุรการโรงเรียนนั้น ขณะนี้ สพฐ. ดำเนินการยื่นข้อเสนอไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับให้เป็นลูกจ้างชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว หากได้รับการอนุมัติ ธุรการโรงเรียนจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยกลุ่มที่ได้รับอยู่ 9,000 บาท จะได้ปรับเป็นเจ้าพนักงานธุรการ และมีค่าจ้างเพิ่มเป็น 13,920 บาท ส่วนกลุ่มที่ได้รับอยู่ 15,000 บาท จะได้ปรับเป็นนักจัดการงานทั่วไปและรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 บาท รวมถึงได้รับสิทธิวันลา เงินสมทบประกันสังคม และสวัสดิการต่างๆ ในฐานะบุคลากรของรัฐตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่เนื่องจาก สพฐ. มีโรงเรียนกว่า 29,000 โรง ทำให้จำนวนธุรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอให้ธุรการกลุ่มที่ได้เป็นนักจัดการงานทั่วไปดูแล 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่ให้ธุรการโรงเรียนต้องเดินทางไกลหรือสลับโรงเรียนบ่อย ๆ เพื่อไม่เป็นภาระเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย
.
“อีกเรื่องที่สำคัญคือการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่ง รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งตอนนี้ได้เปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว สำหรับตำแหน่งรอง ผอ.เขตพื้นที่ มีผู้สมัคร 1,304 คน ตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 598 คน ตำแหน่งรอง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 3,767 คน และตำแหน่งครูผู้ช่วย มีผู้สมัครมากที่สุดถึง 77,053 คน ซึ่งเราจะดำเนินการจ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดสอบ เพื่อความบริสุทธิ์ โปร่งใสและเป็นธรรม และจะดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน หรือก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2568 เพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างทุกตำแหน่ง ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ข่าวโดย : ยศุเนตร ปานธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น