การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 19/2568

 

วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 19/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงการรายงานภาพรวมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ที่ได้มอบหมายผู้บริหาร สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในสถานศึกษาต่างๆ พบว่า โดยภาพรวมทั่วประเทศสามารถเปิดเรียนได้เรียบร้อยดี รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีข่าวปัญหาความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา ทุกโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้เป็นปกติ พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้กำชับเน้นย้ำเขตพื้นที่และสถานศึกษาทุกแห่งให้ดำเนินการตามมาตรการความพร้อม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา นักเรียนและครู โดยเอาใจใส่ป้องกันโรคระบาด การทะเลาะวิวาท รวมถึงการตรวจตราเฝ้าระวังสิ่งเสพติดและอบายมุขต่างๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า การพนัน ไม่ให้เข้าถึงนักเรียนได้ 2. ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนเฝ้าติดตามช่วยเหลือเด็กทุกคนได้กลับมาเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องติดตามให้กลับมาเรียนทุกคน 3. ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากมติ ครม. ที่ได้ยกเลิกครูเวร จึงต้องประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ส่วนท้องถิ่น หรือชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน ให้เข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนด้วย 4. ด้านการจัดสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้มีการสำรวจข้อมูลจนถึงวันที่ 10 มิถุนายนนี้ เมื่อทราบจำนวนนักเรียนที่ชัดเจนแล้วก็จะรีบจัดสรรงบประมาณลงไป และ 5. ด้านแผนเผชิญเหตุ โดยกำชับให้ทุกโรงเรียนต้องมีความพร้อมทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ต้องมีแผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ทั้งนี้ ในวันนี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีแผนเผชิญเหตุและการซักซ้อมอย่างจริงจัง คือ ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.40 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก บริเวณอาคารกาญจนาภิเษก ชั้น 3 ตรงห้องเก็บของด้านหลังหอประชุม ขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ 500 คนกำลังเข้าร่วมกิจกรรมอบรมคุณธรรม ทางโรงเรียนจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณภัยเขตหนองจอกเข้าควบคุมสถานการณ์ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมูลนิธิอาสากู้ภัย เฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดยอาคารหลังนี้ยังไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้ามาเป็นเวลานาน จึงอาจจะเกิดสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้ ทางด้านนักเรียนทุกคนได้รับการอพยพลงมาด้านล่างอย่างปลอดภัย มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 9 ราย และพักฟื้นอยู่ที่โรงเรียน จำนวน 7 ราย เมื่ออาการฟื้นตัวแล้วจึงให้กลับบ้านได้ ทั้งนี้ โรงเรียนได้ดูแลให้กำลังใจและสร้างความเข้าใจกับนักเรียนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุของเพลิงไหม้ และประเมินความเสียหายของอาคารเพื่อทำการซ่อมแซมต่อไป
.
เรื่องสุดท้าย ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมการศึกษาไทย-จีน” เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2568 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้า Central World ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น. โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงไทย-จีน, ปาฐกถาพิเศษ โดย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน, เวทีเสวนาด้านการศึกษา หัวข้อ “ทิศทางการศึกษาไทย-จีน เพื่อการส่งเสริมการมีงานทำ”, “การเรียนการสอนภาษาจีน : ความสำเร็จและความท้าทาย” และ “การนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน” เป็นต้น


ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ

ที่มา >>>สพฐ. ชี้ภาพรวมเปิดเทอมใหม่เรียบร้อยดี เน้นย้ำมาตรการดูแล 5 ด้าน พร้อมแจงเหตุไฟไหม้โรงเรียนควบคุมสถานการณ์ได้ นักเรียน-ครูปลอดภัย และเชิญชวนร่วมงาน “มหกรรมการศึกษาไทย-จีน” – OBEC<<<

การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2568

 


วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2568 ซึ่งว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ.  นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)

.
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้ที่ประชุมได้หารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการศึกษาของ สพฐ. สำหรับความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศพิจารณาตนเองว่ามีความพร้อม ทั้งในด้านผู้บริหาร ผู้สอน และระบบต่างๆในโรงเรียน ได้สมัครเข้ามาเพื่อใช้หลักสูตรดังกล่าว พบว่ามีโรงเรียนจากทุกสังกัดได้สมัครเข้ามาถึง 4,398 แห่ง และจะเริ่มใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ โดยหลักสูตรนี้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับชั้นปฐมวัยและชั้นประถมต้น จะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจและคิดเป็น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่จัดการศึกษาให้นักเรียนตามขั้นตอนแบบตายตัว ใช้ตำราแบบเดิมๆ เมื่อใช้แบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นขึ้น ทางโรงเรียนจะสามารถดูเฉพาะหัวข้อ แล้วผู้บริหารกับครูร่วมกันพิจารณาเนื้อหาและวิธีการในการจัดการศึกษาให้นักเรียนในแบบที่เหมาะสมเข้ากับบริบทของโรงเรียนได้ พร้อมกันนี้ สพฐ. โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้เตรียมความพร้อมต่างๆ ที่จะช่วยเหลือโรงเรียน อาทิ มีการตั้งคลินิกวิชาการขึ้นมาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกโรงเรียน มีการรวบรวมครูและอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ให้สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าวิธีการจัดการศึกษาแบบใดที่เหมาะสม ทำแล้วประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ครูโรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของตนเองได้
.
“การใช้หลักสูตรใหม่นี้ เราคาดหวังว่าจะเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูของเรา เกิดสมรรถนะที่จำเป็น มีทักษะความสามารถที่ทันสมัย ทันโลก สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากในตำราเรียนได้มากขึ้น และวิธีการวัดผลก็จะไปเน้นที่ผลสมรรถนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่จำเป็น ซึ่งจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป” ประธาน กพฐ. กล่าว

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ

ที่มา >>>สพฐ. ร่วมประชุม กพฐ. คืบหน้าใช้หลักสูตรใหม่ปฐมวัย-ประถมต้น 4,398 โรงเรียนพร้อมใช้เปิดเทอมนี้ – OBEC<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 18/2568

 


วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 18/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
โดยวันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) โดยพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ปลูกฝังทักษะอาชีพครบวงจร สร้างสรรค์ผลงานเชิงพาณิชย์อย่างมีคุณธรรม เน้นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาการเรียนการสอน ให้นักเรียนสามารถ “คิดได้ ทำเป็น ขายเป็น” ได้แก่ โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้มีการจัดอบรมออนไลน์หลักสูตรส่งเสริมพัฒนาทักษะนวัตกรผู้ประกอบการ ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะนวัตกรและการคิดเชิงนวัตกรรม ให้ผู้ประกอบการคิดวางแผนสร้างโมเดลธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อออนไลน์พัฒนาโมเดลธุรกิจที่นำไปสู่การสร้างรายได้ โดยมีผู้เข้าสมัครและอบรม จำนวน 2,109 คน มีผู้ผ่านการอบรมและได้รับเกียรติบัตร จำนวน 1,239 คน ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป จะมีการจัดทำแหล่งรวบรวมผลงานและพื้นที่สำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ของนักเรียน (Student Product Hub) ให้เป็นแหล่งรวบรวมผลงานของนักเรียนในสังกัด สพฐ. พร้อมทั้งเป็นพื้นที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของนักเรียนให้เป็นที่รู้จัก ในรูปแบบออนไลน์ และเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียน
.
ขณะที่ความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ การช่วยเหลือ การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น การส่งต่อ และการติดตามดูแล ซึ่งได้มีการนำการเรียนไปให้น้องแล้ว 1,487 คน (ชั้นประถมฯ 246 คน ม.ต้น 818 คน ม.ปลาย 423 คน) และมีการส่งต่อแล้ว 897 คน (ชั้นประถมฯ 190 คน ม.ต้น 437 คน ม.ปลาย 270 คน) ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป จะมีการติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และหารูปแบบวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเริ่มดำเนินการทดลองสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำร่องใช้งานระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout (TZD) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ

ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1071227<<<