การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 8/2568

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 8/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งในเรื่องของการจัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2568 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมในรูปแบบใหม่ที่ดำเนินการแบบเชิงรุก โดยจะให้ ผอ.เขตทุกเขต เลือกโรงเรียนในสังกัดที่ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการได้ดีที่สุด และให้ ผอ.เขตไปอยู่ในสถานที่จริงที่โรงเรียนนั้น เพื่อนำเสนอว่าในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้าง เพื่อให้ สพฐ. และเขตพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้รับทราบ โดยจะฝึกให้ ผอ.เขตเป็นเสมือนนักข่าว ที่สามารถรายงานผลการขับเคลื่อนต่างๆ ที่โรงเรียนได้แบบเรียลไทม์ อาทิ การขับเคลื่อน PISA โครงการ “สุขาดี มีความสุข” การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การย้ายครู เป็นต้น เพื่อให้เห็นผลการขับเคลื่อนจากสถานที่จริง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขตพื้นที่อื่นๆ

.

เรื่องต่อมา เป็นกิจกรรมดีๆ “กล่องความรู้ สู่ความสุข A-Level” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level: A-Level) จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในการลดภาระผู้ปกครองและส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่ออนาคตของนักเรียน สร้างความสุขและความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน เนื่องจากในช่วงนี้ เป็นช่วงเตรียมตัวสอบสำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงได้จัดให้มีการติวฟรีแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการสอนเสริมเพิ่มเติมสร้างความมั่นใจในการสอบของนักเรียน และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ในระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคม 2568 โดยสามารถติดตามชมได้ผ่านช่องทาง OBEC Channel ผ่านระบบออนไลน์ทาง YouTube และ Facebook ของ สพฐ. จึงขอเชิญชวนน้องๆ นักเรียนชั้น ม.6 ทุกคน เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ A-Level ต่อไป

.

“เรื่องสุดท้ายคือการจ้างครูชาวต่างชาติ ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ล่าสุดได้มีการกำชับเน้นย้ำไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ให้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดที่มีการจัดจ้างครูชาวต่างชาติ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของครูชาวต่างชาติ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามระดับคุณภาพ ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และการขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ที่กรมการจัดหางานกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดบกพร่องและป้องกันความเสียหายกับทางราชการ รวมถึงความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งนี้ หากรับคนต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดและถูกดำเนินคดี จึงขอให้เขตพื้นที่และโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ

ที่มา >>>สพฐ. เตรียมประชุม ผอ.เขตฯ รูปแบบใหม่ โชว์ผลงานสุดเจ๋งในพื้นที่ พร้อมจัดติวฟรี A-Level ให้เด็ก ม.6 และกำชับโรงเรียนจ้างครูต่างชาติให้ถูกระเบียบ – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน<<<

การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 7/2568

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 7/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การติดตามการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (TEACHER ROTATION SYSTEM : TRS) ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูสามารถดำเนินการขอย้ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจากการเปิดระบบถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 มีครูในสังกัด สพฐ. ยื่นความจำนงทั้งสิ้น 33,982 คน เพิ่มขึ้น 4,705 คน จากปีที่ผ่านมา โดย สพฐ. ได้ติดตามการดำเนินการของระบบ พบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการอ่านผลงานของครู จึงได้รายงานให้ทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ทราบและแก้ไข เพื่อไม่ให้ครูเสียสิทธิ์หรือกระทบกับสิทธิ์ในการย้ายของครู และติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสามารถย้ายได้สำเร็จจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้การย้ายครูดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ตามข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีครูเข้าไปประจำการที่โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอม รวมถึงเรื่องความก้าวหน้าในการเลื่อนวิทยฐานะของครู ซึ่งล่าสุดมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการประเมินวิทยฐานะผ่านระบบดิจิทัล (DPA) แล้วกว่า 80% จากจำนวนผู้ยื่นฯ รวม 2,156 คน แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ผ่านการประเมิน ในส่วนนี้เราจะวิเคราะห์สาเหตุเป็นรายด้านออกมาและหาทางช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูและบุคลากรฯ ผ่านการประเมินให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของครูและบุคลากรฯต่อไป
.
“สำหรับความคืบหน้า “โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ขณะนี้ สพฐ. โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ได้ค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันได้ครบ 100% แล้ว การดำเนินการต่อไปคือการพาเด็กกลับมาเรียนให้ได้มากที่สุด หรือหากเด็กไม่กลับมาก็จะหาวิธีนำการเรียนไปให้พวกเขาถึงที่ ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ที่สามารถทำได้หลากหลาย โดย สพฐ. กำลังพัฒนาแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” เพื่อการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น อาทิ นวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) โรงเรียนคอมพิวเตอร์ การเรียนผ่านใบงาน (On-Hand) ผ่านระบบออนไลน์ ฯลฯ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและทั่วถึงในทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ

ที่มา >>>สพฐ. ติดตามการย้ายครูออนไลน์ ต้องให้ทันก่อนเปิดเทอม พร้อมคืบหน้าพาน้องกลับมาเรียนฯ ให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาทุกคน – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน<<<

การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 6/2568

 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 6/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การใช้ระบบการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (TEACHER ROTATION SYSTEM : TRS) ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูสามารถดำเนินการขอย้ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจากการเปิดระบบถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 มีครูในสังกัด สพฐ. ยื่นความจำนงทั้งสิ้น 33,982 คน เพิ่มขึ้น 4,705 คน จากปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครู และหากคิดเป็นงบประมาณสามารถประหยัดได้ถึง 32 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องดำเนินการย้ายครูให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เพื่อให้มีครูเข้าไปประจำการที่โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอม

.

ต่อมาคือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่เราได้มีการติดตามทุกสัปดาห์ จากข้อมูลล่าสุด (10 กุมภาพันธ์ 2568) มีครูสมัครเข้ามาในระบบแก้หนี้ครู จำนวน 7,762 คน ได้รับการแก้ไขสำเร็จแล้ว 1,589 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.47 รวมมูลหนี้ที่แก้ไขสำเร็จ จำนวน 4,767 ล้านบาท และยังคงเหลือที่ต้องแก้ไขอีก 6,354 ราย โดยเราจะติดตามและแก้ไขปัญหาให้สำเร็จเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในหลักสูตร Money Coach ผ่านระบบออนไลน์ มีผู้เข้าอบรมจำนวน 109,601 คน ผ่านการอบรม 80,299 คน คิดเป็นร้อยละ 73.26 โดยคนที่ผ่านการอบรม จะให้มีการขยายผลให้ความรู้กับเพื่อนๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้เรื่องการเงิน สามารถวางแผนการใช้จ่ายของตนเองได้ และไม่สร้างภาระหนี้ในอนาคต

.

“ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ปีงบประมาณ 2568 โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 3,137 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.16 และคงเหลือ 2,655 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.84 โดยให้ทุกโรงเรียนและเขตพื้นที่ ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนจำนวนเงินที่กันไว้จากปี 2567 ก็ให้เร่งรัด ดำเนินการเบิกจ่ายโดยเร็ว เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และเรื่องสุดท้าย วันนี้มีภาคเอกชนได้มอบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน ได้แก่ มูลนิธิ ไซมิส สิ่งสรรเสริญ ร่วมกับ บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) บริจาคคอมพิวเตอร์มือสองสภาพดี จำนวน 36 ชุด เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 โรงเรียน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในอนาคต เพื่อพัฒนาและขยายโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย โอกาสนี้ สพฐ. ขอเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) กับโรงเรียนของเรา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นายทัตตกร จันทร์โม

ที่มา >>>สพฐ. เผย ย้ายครู 3.3 หมื่นคนผ่านออนไลน์ ประหยัดงบฯ 32 ล้านบาท พร้อมแก้หนี้สินครูคืบหน้า ลดภาระหนี้ได้กว่า 4.7 พันล้านบาท – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน <<<