
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 7/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การติดตามการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (TEACHER ROTATION SYSTEM : TRS) ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูสามารถดำเนินการขอย้ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจากการเปิดระบบถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 มีครูในสังกัด สพฐ. ยื่นความจำนงทั้งสิ้น 33,982 คน เพิ่มขึ้น 4,705 คน จากปีที่ผ่านมา โดย สพฐ. ได้ติดตามการดำเนินการของระบบ พบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการอ่านผลงานของครู จึงได้รายงานให้ทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ทราบและแก้ไข เพื่อไม่ให้ครูเสียสิทธิ์หรือกระทบกับสิทธิ์ในการย้ายของครู และติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสามารถย้ายได้สำเร็จจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้การย้ายครูดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ตามข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีครูเข้าไปประจำการที่โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอม รวมถึงเรื่องความก้าวหน้าในการเลื่อนวิทยฐานะของครู ซึ่งล่าสุดมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการประเมินวิทยฐานะผ่านระบบดิจิทัล (DPA) แล้วกว่า 80% จากจำนวนผู้ยื่นฯ รวม 2,156 คน แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ผ่านการประเมิน ในส่วนนี้เราจะวิเคราะห์สาเหตุเป็นรายด้านออกมาและหาทางช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูและบุคลากรฯ ผ่านการประเมินให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของครูและบุคลากรฯต่อไป
.
“สำหรับความคืบหน้า “โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ขณะนี้ สพฐ. โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ได้ค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันได้ครบ 100% แล้ว การดำเนินการต่อไปคือการพาเด็กกลับมาเรียนให้ได้มากที่สุด หรือหากเด็กไม่กลับมาก็จะหาวิธีนำการเรียนไปให้พวกเขาถึงที่ ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ที่สามารถทำได้หลากหลาย โดย สพฐ. กำลังพัฒนาแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” เพื่อการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น อาทิ นวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) โรงเรียนคอมพิวเตอร์ การเรียนผ่านใบงาน (On-Hand) ผ่านระบบออนไลน์ ฯลฯ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและทั่วถึงในทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


























ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น