การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 10/2568

สพฐ. แจ้งระวังภัยมิจฉาชีพ ส่งลิงก์หลอกเงินนักเรียน พร้อมเฝ้าระวังไข้อีดำอีแดง และติดตามการย้ายครูผ่านระบบ TRS อย่างใกล้ชิด

.


วันที่ 11 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 10/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting 

.

ภายหลังการประชุม ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงผลการประชุม ว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะการติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในระดับเขตตรวจราชการ และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน นอกจากนี้ ได้กำชับเรื่องการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้อีดำอีแดงที่กำลังระบาดในเด็กวัย 5-15 ปี ในขณะนี้ โดยมีหนังสือแจ้งแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้อีดำอีแดง ไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษา ให้ทำการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดฯ โดยประสานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เมื่อพบการระบาด และควบคุมการระบาดให้จำกัดอยู่ในวงแคบ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนทุกคน

.

เรื่องต่อมา ได้ชี้แจงกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นครูแนะแนว/ผู้ปฏิบัติงาน กยศ. หลอกเงินนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดตรัง โดยพฤติการณ์ คือ มิจฉาชีพได้แฝงตัวเข้ามาร่วมไลน์โอเพ่นแชท กลุ่มแนะแนวโครงการ กยศ. ของโรงเรียน ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถสอบถาม และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินโครงการ กยศ. โดยมิจฉาชีพเปลี่ยนชื่อและรูปโปรไฟล์ เป็นชื่อครูผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นส่งลิงก์ให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่กู้ยืมเงิน กยศ. เข้าไลน์กลุ่มใหม่ที่มิจฉาชีพตั้งขึ้น แล้วหลอกถามข้อมูลส่วนตัวและหลอกให้โอนเงินเพื่อยุติการกู้ยืมของนักเรียนชั้น ม.6 เพื่อต่อ กยศ. ในระดับปริญญาตรี ส่งผลให้นักเรียนหลงเชื่อและดำเนินการตามที่มิจฉาชีพต้องการจนเกิดความเสียหาย มีผู้เสียหาย รวม 25 ราย แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ให้ข้อมูลส่วนตัว หมายเลขบัญชี และจำนวนเงินคงเหลือในบัญชี แต่ยังไม่ได้โอนเงิน จำนวน 17 ราย และกรณีที่ 2 ให้ข้อมูลส่วนตัว หมายเลขบัญชี และจำนวนเงินคงเหลือในบัญชี และโอนเงิน จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 48,140 บาท ซึ่งเมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ทางโรงเรียนได้แจ้งให้นักเรียนรับทราบและยุติการทำธุรกรรมในกลุ่มไลน์ดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้ง สพม.ตรัง กระบี่ ต้นสังกัดให้รับทราบ และแจ้งกระจายข่าวไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดให้เฝ้าระวังมิจฉาชีพรายนี้ และยังได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ตำรวจไซเบอร์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วนต่อไป 

.

“สำหรับความคืบหน้าเรื่องการยื่นคำร้องขอย้ายข้าราชการครู ผ่านระบบ TRS (Teacher Rotation System) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล เพื่อเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล และนำเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาต่อไป ซึ่งตามปฏิทินจะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม และออกคำสั่งย้ายได้ภายในเดือนเมษายน ทั้งนี้ สพฐ. ได้ติดตามการดำเนินการของระบบ พบว่ายังไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องดูว่าจะมีปัญหาหลังจากการย้ายแล้วหรือไม่ หากพบปัญหาก็ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไปโดยเร็ว เพื่อให้การย้ายครูดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ตามข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อให้มีครูเข้าไปประจำการที่โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น