
วันที่ 17 มีนาคม 2568 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 3/2568 ซึ่งมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)
.
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) กฎกระทรวงการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2568 โดยมีหลักการคือ ปกติแล้วเมื่อต้องรวมหรือเลิกสถานศึกษา ต้องมีการนำเข้าที่ประชุม กพฐ. เพื่อพิจารณาให้การอนุมัติหรือไม่อนุมัติ เป็นงานประจำที่ต้องทำในทุกครั้ง ซึ่งที่ประชุม กพฐ. พิจารณาแล้วเห็นว่า สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีข้อมูลของโรงเรียนที่ละเอียดรอบด้านมากกว่า จึงเห็นควรถ่ายโอนการพิจารณาส่วนนี้ไปให้ จึงมีการร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนมากขึ้น เช่น จากเดิมที่มีข้อกำหนดตายตัวว่าโรงเรียนต้องมีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ จึงจะสามารถควบรวมหรือยุบเลิกได้ หรือข้อกำหนดเรื่องสถานที่ตั้งโรงเรียน ก็เข้าไปแก้ไขตรงจุดนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย และเปิดโอกาสให้มีการปรับได้ตามประกาศของ สพฐ. ต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายชั้นเรียน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนหรือมีการประเมินว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย
.
เรื่องต่อมา คือเรื่องความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศพิจารณาตนเองว่ามีความพร้อมและสมัครเข้ามาเพื่อใช้หลักสูตรดังกล่าว ซึ่งจากการเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 7-14 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีโรงเรียนจากทุกสังกัดได้สมัครเข้ามาถึง 2,316 แห่ง โดยหลักสูตรนี้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับชั้นปฐมวัยและชั้นประถมต้น จะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจและคิดเป็น เมื่อเห็นว่ามีโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการสมัครออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ พร้อมกันนี้ สพฐ. โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมต่างๆ ที่จะช่วยเหลือโรงเรียน เพราะการที่จะเริ่มใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นการเริ่มใช้ครั้งแรก ซึ่งอาจมีข้อติดขัดเกิดขึ้นได้ จึงได้ตั้งคลินิกวิชาการขึ้นมาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกโรงเรียน และในเร็วๆนี้ ทางสำนักวิชาการฯ จะมีการประชุมพบปะกับผู้บริหารโรงเรียนและคุณครู เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ เตรียมแผนดำเนินการและตอบข้อซักถามต่างๆ ให้มีความชัดเจนเพิ่มเติม และจะมีการอบรมคุณครูผู้สอนในช่วงเดือนเมษายนนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ต่อไป
.
“เรื่องสุดท้ายคือ การพิจารณาการเลิกขยายชั้นเรียน การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ประชุมได้อนุมัติการรวมสถานศึกษาฯจำนวน 5 โรงเรียน การเลิกสถานศึกษาฯจำนวน 12 โรงเรียน และการเลิกขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3 โรงเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวที่ประชุมได้ดำเนินการมาเป็นประจำทุกครั้ง แต่ต่อไปจะโอนย้ายไปให้ สพฐ. ดำเนินการเองแล้ว ซึ่งเราหวังว่ากฎกระทรวงฯจะแล้วเสร็จ และนำมาใช้ได้โดยเร็วภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เหมาะสม มีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของสถานศึกษาและผู้เรียนต่อไป” ประธาน กพฐ. กล่าว














ข่าวโดย : ทัตตกร ทั่งโม
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/author/tattkorn-junmo/<<<
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น