วันที่ 4 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 9/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV/DLIT) และการจัดการสื่อสารทางไกลแบบสื่อสารสองทาง (IDL) ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่ใช้ DLTV รวม 13,401 แห่ง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ Smart TV จำนวน 15,720 เครื่องให้กับโรงเรียนจำนวน 7,912 แห่ง ส่วนในปี 2567 ได้จัดสรรเป็นจำนวน 1,514 เครื่อง ให้กับโรงเรียน 489 แห่ง และในปี 2568 ได้จัดสรรเป็นจำนวน 612 เครื่อง ให้กับโรงเรียน 612 แห่ง ทั้งนี้ ในการจัดการเรียนการสอนได้ใช้แนวทาง 5 ต สู่การเติบโตทางการเรียนรู้ด้วย DLTV ประกอบด้วย 1.ตระหนัก 2.ตื่นตัว 3.แต่งตั้ง 4.ติดตาม 5. ติดตรา พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้ผู้บริหารและครู รู้คุณค่า เห็นประโยชน์ DLTV ในทุกมิติ มีการขยายผลการใช้ DLTV ในระดับเขตพื้นที่และในระดับสถานศึกษา รวมถึงแต่งตั้งโรงเรียนต้นแบบ DLTV ในแต่ละเขตพื้นที่เป็นเครือข่ายพัฒนาโรงเรียนในกลุ่มสีแดง และสร้างระบบการติดตามผลเพื่อการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”
.
เรื่องต่อมา คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดย สพฐ. ได้มีการรับรายงานตัวผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) สังกัด สพฐ. (ครั้งที่ 7) จำนวน 702 ราย เพื่อเข้าไปทำงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รวม 217 เขต และจะมีการเรียกรายงานตัว (ครัั้งที่ ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 นี้ เพื่อเติมเต็มให้เขตพื้นที่ไม่ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานและสามารถขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. และ สพฐ. ได้อย่างต่อเนื่อง
.
ขณะที่ความคืบหน้าการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA พบว่ามีความก้าวหน้าในการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ โดยจากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 445,624 คน มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 281,440 คน อยู่ระหว่างการอบรม 117,261 คน และอบรมเสร็จแล้ว 164,179 คน ในจำนวนนี้ได้มีการนำผลการอบรมการขยายผลการสร้างข้อสอบแนว PISA ไปใช้ในโรงเรียน อาทิ การตั้งคำถามกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน การนำไปใช้เป็นแนวทางสร้างแบบวัดผลกลางภาค/ปลายภาค การนำข้อสอบที่สร้างไปใช้เป็นแบบฝึกนักเรียน การนำไปใช้ในการประเมินแบบ Formative ระหว่างเรียน และการประยุกต์ใช้กับ Gamification เป็นต้น และจะเดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางประเมิน PISA เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
.
“นอกจากนี้ ในส่วนของกิจกรรม “กล่องความรู้ สู่ความสุข A-Level” ที่ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level: A-Level) ได้มีการดำเนินกิจกรรมเป็นวันแรกเมื่อวานนี้ (3 มีนาคม 2568) พบว่ามีนักเรียนชั้น ม.6 ให้ความสนใจเข้ามารับชมเป็นจำนวนมาก ผ่านช่องทาง Facebook “OBEC Channel” จำนวนกว่า 18,000 ครั้ง มีการแชร์ 285 ครั้ง กดไลก์ 360 ครั้ง ผ่านช่องทาง Youtube มีผู้รับชมจำนวน 3,556 ครั้ง กดไลก์ 214 ครั้ง และช่องทาง OBEC TV มีผู้รับชม 331 ครั้ง ได้รับคะแนนความพึงพอใจในระดับ”มาก” โดยกิจกรรมนี้เป็นการติวฟรีแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ช่วยสอนเสริมเพิ่มเติมสร้างความมั่นใจในการสอบของนักเรียน และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เป็นกิจกรรมดีๆ จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในการลดภาระผู้ปกครองและส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่ออนาคตของนักเรียน สร้างความสุขและความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคม 2568 จึงขอเชิญชวนน้องๆ นักเรียนชั้น ม.6 ทุกคนมาเข้าร่วมในอีก 4 วันที่เหลือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ A-Level ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว































ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น