โครงการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ จังหวัดน่าน

 

วันที่ 18 มกราคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุม โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการศึกษาของ สพฐ. รวมถึงสรุปผลจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในจังหวัดน่าน  พร้อมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. และผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน และผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting

.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม กพฐ. ได้หารือในหลายประเด็นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการพิจารณาแก้ไขวันเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งเกิดจากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. สำรวจความคิดเห็นในการพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ. 2549 แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุม กพฐ. โดยมีแนวคิด ให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และเลื่อนวันปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้ตรงกับปีงบประมาณ ส่วนภาคเรียนที่ 2 ให้เปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายน และปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 เมษายน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ยังต้องพิจารณาในอีกหลายส่วนต่อไป
.
“สำหรับข้อดีของการเลื่อนวันเปิดเทอม จะส่งผลดีในเรื่องของการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น ซึ่งการปิดภาคเรียนที่ 1 ที่ยาวขึ้นก็จะทำให้นักเรียนมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลเรื่องการนับอายุเด็กก่อนเข้าเรียนและเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้น เราก็จะต้องมาดูประโยชน์ที่จะเกิดในภาพรวม ว่าคุ้มค่าหรือไม่ หากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับก็คงจะไม่เปลี่ยน แต่หากได้รับผลประโยชน์ที่ดีมากกว่า ก็คงจะมีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า หากมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่สอดคล้องกับช่วงปีงบประมาณ ก็จะเป็นผลดีต่อการบริหารอัตรากำลัง โดย สพฐ. ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 47,467 คน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และอื่นๆ พบว่า เห็นด้วย 80.30% ไม่เห็นด้วย 16.91% และอื่นๆ 0.79% โดยผู้ที่เห็นด้วยมีประเด็นเห็นชอบ คือ 1.เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาเนื่องจากสอดคล้องกับปีงบประมาณ รวมถึงด้านการเบิกจ่ายอาหารกลางวันอาหารเสริม (นม) และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ 2.เป็นประโยชน์กับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤษภาคม สามารถเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเข้าเรียนในปีการศึกษาถัดไป 3.เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารอัตรากำลัง เนื่องจากการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งแต่เดิมกำหนดปิดภาคเรียนในวันที่ 11 ตุลาคม ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านอัตรากำลัง 4.เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา 5.เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 มีโอกาสแก้ผลการเรียนให้จบทันปีการศึกษา โดยการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นักเรียนที่มาแก้ผลการเรียนดำเนินการได้สะดวกกว่าการที่โรงเรียนเปิดวันที่ 16 พฤษภาคม อีกทั้งยังลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จบการศึกษาเพิ่มขึ้น สามารถใช้วุฒิการศึกษาไปทำงานหรือเรียนต่อได้ทันปีการศึกษาถัดไป
.
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และยังมีความเห็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ควรนับวันครบอายุเข้าเรียนตามปี พ.ศ. เพื่อให้เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสม หรือควรกำหนดกรอบระยะเวลาเปิดภาคเรียนแบบยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สพฐ. ไปดำเนินการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและส่วนราชการอื่นๆ รวมถึงโรงเรียนเอกชนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ ค่อนข้างเห็นด้วยกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนที่ 1 แต่ยังมีความกังวลเรื่องของการนับอายุเด็ก ซึ่งก็จะต้องนำความคิดเห็นที่ได้ไปทบทวน รวมถึงยังต้องมีการศึกษาถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะหากประกาศใช้ระเบียบใหม่ ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อาชีวะศึกษา หรือกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นายทัตตกร จันทร์โม

ที่มา >>>เสมา 1 – สพฐ. ร่วมประชุม กพฐ. หารือเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ย้ำดูที่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน<<<

การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 1/2568

 

วันที่ 6 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 1/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว อาทิ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษาแบบเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การพัฒนาทักษะให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) การสร้างความปลอดภัย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ เป็นต้น โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

โอกาสนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้เปิดตัว “คลินิก สพฐ.” รายการที่จะเสริมสร้างกำลังใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึงทุกห้องเรียน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษา ฯลฯ แก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สนใจ ตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้ปกครอง สามารถเข้ามาสอบถาม ไขข้อข้องใจ รับข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ จากผู้บริหารของ สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย ไม่ตกเทรนด์ ตามแนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ เรียนดี มีความสุข” และได้เห็นผลงานการขับเคลื่อนนโยบายของเขตพื้นที่ และสถานศึกษา ที่น่าสนใจอีกด้วย

.

สำหรับรายการ “คลินิก สพฐ.” จะออกอากาศทุกวันพฤหัสบดีที่สองของทุกเดือน เริ่มครั้งแรกวันที่ 9 มกราคม 2568 นี้ เวลา 15.00 น. สามารถรับชมได้แบบสดๆ ทั่วประเทศ ผ่าน LIVE FAN PAGE “คลินิก สพฐ.” โดยมีช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ ดังนี้

1. เพจ Facebook คลินิก สพฐ.
https://www.facebook.com/share/1F32js7L7hjrPkam/?mibextid=LQQJ4d

2. ไลน์โอเพนแชท คลินิก สพฐ.

https://line.me/…/4yAorOMuuk1T8bcNbWdiUur…

3. Tiktok คลินิก สพฐ.

https://www.tiktok.com/@eva.obec?_t=ZS-8slqPwiTHWh&_r=1

.

“ขอเชิญชวนครอบครัว สพฐ. ทุกคน ทั้งผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้ปกครอง เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ รับคำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ เพื่อคลายทุกข์คลายกังวลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา โดยผู้บริหารของ สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักทุกคนพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเราคือ “OBEC One Team” ที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ลงสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงในทุกห้องเรียน เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นายทัตตกร จันทร์โม

ที่มา >>>สพฐ. เปิดตัว “คลินิก สพฐ.” ให้คำปรึกษา-สร้างกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน พร้อมขับเคลื่อน“เรียนดี มีความสุข”ทุกพื้นที่ – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน<<<