การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 13/2568

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 13/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยจัดกิจกรรมการขยายผลการสร้างและพัฒนาข้อสอบแนว PISA ในระดับเขตพื้นที่ ซึ่งข้อมูลล่าสุด พบว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น 31,856 คน อยู่ระหว่างการอบรมเพิ่มขึ้น 33,176 คน และอบรมเสร็จแล้ว เพิ่มขึ้น 65,167 คน ทำให้ยอดรวมทั้งหมดมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว 404,679 คน อยู่ระหว่างการอบรม 99,177 คน และอบรมเสร็จแล้ว 305,502 คน และเขตพื้นที่ตัวอย่างที่สามารถดำเนินการต่อยอดการสร้างและพัฒนาข้อสอบแนว PISA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 1 สพป.กระบี่ และ สพม.พังงา ภูเก็ต ระนอง เป็นต้น
.
เรื่องต่อมา คือ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในสิ้นไตรมาสที่ 2 (31 มีนาคม 2568) พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จึงได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ปีงบประมาณ 2568 ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้ว 4,080 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.45 และคงเหลือ 1,711 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.55 พร้อมทั้งกำชับให้ทุกโรงเรียนและเขตพื้นที่ ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ส่วนจำนวนเงินที่กันไว้จากปี 2567 ก็ให้เร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายโดยเร็ว เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลัง
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2568 โดยปรับให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านความปลอดภัยในปัจจุบัน พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดรับทราบ และเตรียมพร้อมสำหรับการสอบคัดเลือกและการรายงานตัว/มอบตัว ให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมถึงได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) และพิจารณาการปรับเปลี่ยนสำนักภายใน สพฐ. ตามกฎกระทรวงฯ ให้มีความถูกต้องเหมาะสม เป็นต้น


ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1055928/<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 12/2568

 

วันที่ 26 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 12/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เรื่องแรกคือ สพฐ. ได้จัดทำ TOR ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2568 เสร็จสิ้นแล้ว และประกาศลงในเว็บไซต์เพื่อเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์แล้ว โดยโครงการนี้จะมีการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ มีการเช่าใช้ระบบคลาวด์สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินการจัดทำ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีงบประมาณสูง จึงต้องทำงานด้วยความรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและทางราชการ

.

เรื่องต่อมา คือ การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2568 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบคัดเลือกนักเรียน ชั้น ม.1 และ ม.4 ประเภทห้องเรียนปกติ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 และ 30 มีนาคม 2568 นี้ตามลำดับ เมื่อประกาศผลสอบแล้วนักเรียนคนไหนยังไม่มีที่เรียน สามารถติดต่อไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ซึ่งมีศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2568 เพื่อช่วยเหลือ ประสานงาน ให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งจัดหาที่เรียนให้แก่นักเรียนทุกคน ยืนยันว่ายังมีโรงเรียนที่มีที่นั่งรองรับนักเรียนได้ทุกคน ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจว่าบุตรหลานของท่านจะมีที่เรียนแน่นอน

.

“อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การปรับสถานะสำนักหลักภายใน สพฐ. ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ที่กำหนด ซึ่งตอนนี้ สพฐ. มีสำนักหลักอยู่ 24 สำนัก ก็จะมีการปรับสถานะในเร็วๆ นี้ เพื่อตอบสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในเรื่องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการปรับสถานะในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของงาน มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณได้อย่างเหมาะสม ให้เกิดความเชื่อมโยง ความต่อเนื่อง และความสอดคล้องกันของงาน รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายใหม่ และการเข้าสู่องค์กรคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยไม่กระทบกับบุคลากรในสำนักแต่อย่างใด” เลขาธิการ กพฐ.

ข่าวโดย : ทัตตกร จันทรโม
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1053597/<<<

การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 11/2568

 

วันที่ 18 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 11/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงกรณีจ้างเหมาบริการของ สพฐ. ซึ่งมีหลายตำแหน่งทั้งนักการภารโรง ธุรการ ยาม คนครัว ครู พี่เลี้ยงเด็ก ฯลฯ ซึ่งทุกตำแหน่งจะต้องจ้างตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยบุคลากรกลุ่มนี้ได้ร้องขอให้เปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว และขอให้ปรับเงินเดือนเทียบเท่าข้าราชการ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึง สพฐ. ได้รับทราบปัญหาแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการหารือเร่งด่วนไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และมีหนังสือขอเปลี่ยนการจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปยังสำนักงาน ก.พ. แล้ว ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ขอให้ สพฐ. ดำเนินการขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน หากกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อขอกรอบอัตรากำลังลูกจ้างชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งวันนี้ สพฐ. ก็ได้มีหนังสือส่งไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เรียบร้อยแล้ว ส่วนในเรื่องของการปรับค่าจ้าง สพฐ. อยู่ระหว่างเสนอเรื่องไปยัง ครม. เพื่อขอปรับเงินค่าจ้างโดยเทียบเงินเดือนให้เท่ากับข้าราชการ ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่ขอให้มั่นใจว่า สพฐ. จะทำเพื่อประโยชน์ของบุคลากรทุกคน

.

เรื่องต่อมา เป็นโครงการดีๆ สำหรับน้องๆ นักเรียนที่ต้องการมีรายได้เสริมช่วงปิดเทอม โดย สพฐ. ได้จัดโครงการส่งเสริมการมีรายได้ให้แก่นักเรียน (ทุนแลกงาน) ประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกวินัย ความรับผิดชอบ สามารถนำรายได้จากการทำงานไปใช้เป็นทุนการศึกษาต่อไป สนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ในด้านการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ได้ทำงานที่เหมาะสมในหน่วยงานราชการต่างๆ ระหว่างช่วงปิดภาคเรียน (24 มีนาคม – 24 เมษายน 2568) โดยได้รับค่าตอบแทนคนละไม่เกิน 6 พันบาท ซึ่งมีนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการถึง 340 คน

.

“อีกประเด็นที่ สพฐ. ให้ความสำคัญ คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่การเรียนรู้ตามมาตรฐานสากล รวมถึงการทดสอบที่เป็นสากล เช่น PISA ซึ่งมีกำหนดสอบในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ โดย สพฐ. ได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ศูนย์ PISA และศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ร่วมกันพัฒนาครูและผู้บริหารให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถใช้ AI เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) ทำการอบรมครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโรงเรียน สังกัด สพม. ทั่วประเทศ จำนวน 62 เขต 700 โรงเรียน รวม 1,400 คน เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูด้าน AI ด้านเทคนิคการสอน และการใช้แพลตฟอร์ม Adaptive Education Platform ให้ครูสามารถนำไปขยายผลต่อในชั้นเรียน และเป็นการวางรากฐานการใช้ AI สำหรับนักเรียนเพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไปอีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1051427/<<<

การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 3/2568


วันที่ 17 มีนาคม 2568 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 3/2568 ซึ่งมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)

.

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) กฎกระทรวงการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2568 โดยมีหลักการคือ ปกติแล้วเมื่อต้องรวมหรือเลิกสถานศึกษา ต้องมีการนำเข้าที่ประชุม กพฐ. เพื่อพิจารณาให้การอนุมัติหรือไม่อนุมัติ เป็นงานประจำที่ต้องทำในทุกครั้ง ซึ่งที่ประชุม กพฐ. พิจารณาแล้วเห็นว่า สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีข้อมูลของโรงเรียนที่ละเอียดรอบด้านมากกว่า จึงเห็นควรถ่ายโอนการพิจารณาส่วนนี้ไปให้ จึงมีการร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนมากขึ้น เช่น จากเดิมที่มีข้อกำหนดตายตัวว่าโรงเรียนต้องมีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ จึงจะสามารถควบรวมหรือยุบเลิกได้ หรือข้อกำหนดเรื่องสถานที่ตั้งโรงเรียน ก็เข้าไปแก้ไขตรงจุดนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย และเปิดโอกาสให้มีการปรับได้ตามประกาศของ สพฐ. ต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายชั้นเรียน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนหรือมีการประเมินว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

.

เรื่องต่อมา คือเรื่องความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศพิจารณาตนเองว่ามีความพร้อมและสมัครเข้ามาเพื่อใช้หลักสูตรดังกล่าว ซึ่งจากการเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 7-14 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีโรงเรียนจากทุกสังกัดได้สมัครเข้ามาถึง 2,316 แห่ง โดยหลักสูตรนี้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับชั้นปฐมวัยและชั้นประถมต้น จะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจและคิดเป็น เมื่อเห็นว่ามีโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการสมัครออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ พร้อมกันนี้ สพฐ. โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมต่างๆ ที่จะช่วยเหลือโรงเรียน เพราะการที่จะเริ่มใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นการเริ่มใช้ครั้งแรก ซึ่งอาจมีข้อติดขัดเกิดขึ้นได้ จึงได้ตั้งคลินิกวิชาการขึ้นมาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกโรงเรียน และในเร็วๆนี้ ทางสำนักวิชาการฯ จะมีการประชุมพบปะกับผู้บริหารโรงเรียนและคุณครู เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ เตรียมแผนดำเนินการและตอบข้อซักถามต่างๆ ให้มีความชัดเจนเพิ่มเติม และจะมีการอบรมคุณครูผู้สอนในช่วงเดือนเมษายนนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ต่อไป

.

“เรื่องสุดท้ายคือ การพิจารณาการเลิกขยายชั้นเรียน การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ประชุมได้อนุมัติการรวมสถานศึกษาฯจำนวน 5 โรงเรียน การเลิกสถานศึกษาฯจำนวน 12 โรงเรียน และการเลิกขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3 โรงเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวที่ประชุมได้ดำเนินการมาเป็นประจำทุกครั้ง แต่ต่อไปจะโอนย้ายไปให้ สพฐ. ดำเนินการเองแล้ว ซึ่งเราหวังว่ากฎกระทรวงฯจะแล้วเสร็จ และนำมาใช้ได้โดยเร็วภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เหมาะสม มีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของสถานศึกษาและผู้เรียนต่อไป” ประธาน กพฐ. กล่าว