โครงการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ จังหวัดเชียงราย

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นำทีมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นำโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. และผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนและดูบริบทการจัดการศึกษาในพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง ณ โรงเรียนผาขวางวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยกล่าวว่า วันนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสถานศึกษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงเรียนปกติ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนการศึกษาพิเศษ โดยแบ่งสายผู้บริหารออกไปตรวจเยี่ยมเป็น 5 สาย ในพื้นที่ต่างๆ กัน เพื่อครอบคลุมสถานศึกษาทุกรูปแบบ



นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก เรามีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ถึงแม้นักเรียนมีน้อยก็ตาม เนื่องจากการเดินทางห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เรากำหนดให้เป็นโรงเรียน stand alone และต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้บริการเด็กชนเผ่าต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบของประเทศไทย จากที่ได้มาวันนี้ก็จะชี้ให้เห็นว่าถึงแม้โรงเรียนเหล่านี้จะอยู่ห่างไกล แต่เขาต้องได้รับโอกาสและได้รับการเรียนรู้ไม่ต่างกับโรงเรียนที่อยู่ในเมือง สิ่งนี้คือเป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ เราจึงมุ่งไปที่รูปแบบโรงเรียนขยายโอกาส นอกจากนั้นก็เป็นรูปแบบที่ทำร่วมกับอาชีวะ และองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่นของอาชีวะเราก็จะมีหลักสูตรทวิศึกษาที่จะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ ในส่วนบริบทอื่นๆ เราก็จะดูเรื่องที่พักนอน อาหารเช้า กลางวัน เย็น และบ้านพักครูที่พร้อมในการอยู่อาศัยของคุณครู นี่คือแนวทางที่ สพฐ. ต้องการ ดังนั้นเพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายระยะยาวจึงได้เชิญ กพฐ. ที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ สพฐ. มาปฎิบัติ ได้รับทราบบริบทของพื้นที่ จึงได้มาตรวจเยี่ยมยังโรงเรียนแห่งนี้

“สำหรับการจัดการศึกษารูปแบบอื่นๆ ต้องเรียนว่า สพฐ. ในมิติใหม่ต้องมุ่งไปยังคุณภาพผู้เรียน โดยเราต้องการให้พื้นที่เป็นฐานและนวัตกรรมขับเคลื่อน ดังนั้นวิธีการเรียนการสอนต่างๆ จะต้องปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนหรือของชนเผ่า เชิงพื้นที่ หากเด็กเรียนจบตรงนี้แล้ว เราจะไม่มุ่งให้เด็กไปเรียนสายสามัญอย่างเดียว แต่ให้เขาได้เลือกประกอบอาชีพของตนเองให้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในส่วนวิชาประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ด้วยความที่มีหลากหลายชนเผ่า ประวัติศาสตร์แต่ละชนเผ่าก็แตกต่างกันไป ดังนั้นการเรียนประวัติศาสตร์แนวใหม่คือการเรียนประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวและเป็นประวัติศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เข้าใจปัจจุบัน และนำมากำหนดภาพในอนาคตได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทางด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน stand alone เราต้องดูจากพื้นฐานก่อน ซึ่งที่นี่มีธรรมชาติที่ดี มีป่าไม้ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นมีโอกาสที่จะเพาะปลูกสร้างผลิตภัณฑ์มากมาย ทางโรงเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีความรู้พื้นฐานที่สามารถสร้างความเจริญและพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้ เช่น ทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงสังคม เข้าถึงความรู้ความพัฒนาในสิ่งที่เค้ามี ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันพื้นที่นี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะมีเรื่องของธุรกิจบริการ การค้าขายในการนำสินค้าออกสู่ตลาดโลกหรือตลาดข้างนอก ต้องมีตัวกลางด้วย เช่น สื่อออนไลน์ ซึ่งเขามีทุนเดิมอยู่แล้ว ทางผู้อำนวยการโรงเรียนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน้าที่ของ สพฐ. ก็จะต้องส่งเสริม ติดอาวุธให้เขา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะส่งเสริมเกี่ยวกับการค้าขายทางอินเทอร์เน็ตออนไลน์ สิ่งที่ขาดอยู่คือระบบอินเทอร์เน็ตที่ดี ซึ่งเป็นตัวที่จำกัดศักยภาพในการเรียนรู้และนำสินค้าออกสู่ตลาดภายนอก ถ้าเราสามารถติดอาวุธเพิ่มเติมให้เขาได้ เช่น ติดระบบอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น มีเครือข่ายชุมชนจากสังคมข้างนอกและข้างในร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง ก็จะเป็นตัวชี้นำและชักจูงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยเร็ว ดังนั้นในการมุ่งเน้นอาจจะแตกต่างกับโรงเรียนในเมืองที่เน้นเรื่องวิชาการ เรื่องการสื่อสารต่างประเทศ แต่ที่นี่จะเน้นเรื่องมีพื้นฐานที่ชำนาญจากการหาข้อมูลจากโลกภายนอก นำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ออกสู่ข้างนอก และดึงจากข้างนอกเข้ามาสู่ข้างใน เป็นเรื่องที่คิดว่าทั้ง สพฐ. และหน่วยงานเอกชนต่างๆ น่าจะมาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนในลักษณะนี้ได้ หากองค์กรต่างๆ อยากจะทำเรื่องการช่วยเหลือสังคมในภาพกว้างมากขึ้น ก็สามารถใช้โรงเรียนเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้




“ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ กพฐ. คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา ยกระดับคุณภาพนักเรียนของเรา การที่มาเยี่ยมชมในครั้งนี้ก็จะเป็นตัวอย่างใน 5 สาย รวม 11 โรงเรียน เพื่อดูว่าในโรงเรียนต่างๆ ที่เรามีอยู่จะยกระดับคุณภาพของเขาได้อย่างไร ทั้งในเรื่องความพร้อมของสถานที่ ครู อาจารย์ ระบบ เครื่องมือต่างๆ เราก็เข้ามาดูตรงนี้และจะได้ประเมินเพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติหรือนโยบาย และหาทางช่วยเหลือติดตั้ง เสริมอาวุธให้เขา เพื่อให้เขาสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และคุณภาพคนให้ดีขึ้น หลังจากลงพื้นที่แต่ละสายก็จะดูว่ามีอะไรที่จะปรับปรุงได้ หรือสามารถยกระดับคุณภาพได้อย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่โรงเรียนส่วนใหญ่เผชิญปัญหาที่คล้ายๆ กัน เพื่อนำมายกระดับคุณภาพได้อย่างทั่วถึง” ประธาน กพฐ. กล่าว

วันที่ 7 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย รวมถึงคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การประชุม กพฐ. นอกสถานที่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกหลังจากสถานการณ์โควิดที่บอร์ด กพฐ. ได้ลงพื้นที่ โดยเลือกจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางบอร์ด กพฐ. เองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในเรื่องระเบียบและแนวทางต่างๆ วันนี้ก็ได้มาเห็นสภาพในบริบทพื้นที่ต่างๆ แต่ละภาคของประเทศไทย ซึ่งเราได้มุ่งเน้นในเรื่องของนโยบายโรงเรียนคุณภาพ ทั้งในมิติของผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู และการพัฒนาครู รวมถึงการจัดประเมินคุณภาพให้มีความหลากหลาย เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการในบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเรื่องของการประเมินต่างๆ ก็ต้องมีช่องทาง การประเมินที่มีความหลากหลายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของความต้องการของพื้นที่


“นอกจากนั้น ได้เน้นย้ำนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลายและห่างไกล ซึ่งเราได้ดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพื่อให้เทคโนโลยีตัวนี้เป็นสื่อในการพัฒนาครู รวมถึงการเรียนการสอน ให้เข้าถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มีการสร้างภาคีเครือข่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้โรงเรียนมีเกราะป้องกัน ให้คุณครูและนักเรียนมีความปลอดภัยมากที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว


ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า วันนี้ได้มาดูในเรื่องของทักษะอาชีพ เนื่องจากเด็กๆ ได้รับการดูแลในเรื่องของทักษะการทำอาชีพต่างๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ยังมีชมรมมาเปิดของขายและมีลูกค้า เป็นนักเรียนที่อยู่หอพักและผู้ปกครองที่มา ซึ่งเด็กๆ ต่างมีความสุขกับการที่ได้ขายของแล้วทำด้วยตนเอง พอขายของเสร็จก็เข้าสู่ระบบธนาคาร ถือได้ว่ามีการจัดระบบระเบียบของการเรียนรู้ได้ครบ รวมถึงอาหารที่เราไปดูก็มีความหลากหลาย แสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายประเภท และยังมีอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ความตั้งใจ ความทุ่มเทของเด็กๆ ที่เป็นคนดำเนินการ ในส่วนของการศึกษาพิเศษ หากดูจากส่วนใหญ่เด็กๆ จะเน้นไปทางสายอาชีพ แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ดึงศักยภาพได้จะเห็นว่าเด็กบางคนเก่งมาก มีจุดมุ่งหมายในการสอบเข้าคณะแพทย์รวมถึงการเรียน 4.00 เพราะฉะนั้นความแตกต่างในจุดนี้น่าจะต้องเติมเสริมเป็นรายบุคคลให้เกิดความเข้มแข็งของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป แต่ทุกอย่างต้องมีมิติที่อยู่ร่วมกันได้หมดทั้งทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาการ เพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่เขาถนัดและสนใจจริงๆ
.
ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข กล่าวว่า ในวันนี้ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทางด้านสาธารณสุขก็ได้ลงมาดูในเรื่องที่เกี่ยวกับอนามัยโรงเรียน ในเรื่องของมิติทางด้านสุขภาพ ทำให้เด็กมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ซึ่งโรงเรียนนี้ก็สามารถทำได้ดี มีการตรวจสุขภาพ วัดสายตา ดูแลเรื่องส่วนสูงและน้ำหนักของนักเรียนอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

ข่าวโดย : นายบวรศักดิ์ สาลีฉันท์

https://www.obec.go.th/archives/751554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น