การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นฐาน ครั้งที่ 2/2567

 

วันที่ 2 มีนาคม 2567 การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธาน และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช, นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโรงแรมฟอร์จูน วิวโขง จังหวัดนครพนม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม ZOOM Meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ในการประชุมและลงพื้นที่จังหวัดนครพนมครั้งนี้ ทาง สพฐ. ต้องขอบคุณ กพฐ. ที่เป็นผู้ให้นโยบายและข้อเสนอแนะให้ฝ่ายปฏิบัติได้นำไปปรับปรุงการจัดการศึกษา วันนี้ก็ได้มาร่วมกันลงไปดูหน้างานจริง ว่านโยบายต่างๆ สามารถปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำไปสู่การวางแผนแก้ไข ตั้งงบประมาณมาสนับสนุนในส่วนที่ขาดแคลนต่อไป ซึ่งได้รับข้อเสนอที่เป็นประโยชน์มากมาย นอกจากนั้น เมื่อได้มาเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนครพนม ตนรู้สึกชื่นชมโรงเรียนที่ได้พัฒนาได้ดีมาก แม้จะยังมีปัญหาความต้องการอยู่บ้าง เราก็จะรับไปพิจารณาร่วมกับ กพฐ. แล้วให้สำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

ส่วนเรื่องการขาดแคลนครูนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องครูไม่ครบชั้นมากกว่า โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อย แต่เราก็มีแนวทางรองรับไว้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนรวม การเรียนผ่าน DLTV หรือในอนาคตที่จะมีการเรียนแบบ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ผ่านแพลตฟอร์มการศึกษาของ ศธ. เป็นต้น ซึ่งต้องเน้นเนื้อหาที่ชวนคิดวิเคราะห์ ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ควบคู่กับการพัฒนาครูต้นทางให้เน้นการสอนแบบ Active Learning ให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม เกิดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงไปถึงความฉลาดรู้ทางด้านการอ่าน การสอบ O-NET และการสอบ PISA ในอนาคตด้วย

“ส่วนเรื่องแพลตฟอร์มการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เราก็จะเริ่มทำในปีนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ เตรียมเนื้อหา เตรียมคนให้พร้อม เพื่อที่ว่าเมื่อได้รับงบประมาณปี 2567 ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม ก็จะได้เริ่มเดินหน้าต่อไปทันที โดยรวบรวมเนื้อหาคอนเทนต์ด้านการศึกษาไปไว้ที่คลาวด์ (Cloud) เมื่อปีงบประมาณต่อไปได้รับจัดสรรอุปกรณ์เข้ามารองรับ เช่น โน้ตบุ๊ก แล็บท็อป ทั้งครูและนักเรียนก็สามารถเข้าไปใช้งานได้ทันที เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ได้เห็นความแตกต่างของโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่ละประเภท ซึ่งมีทั้งจุดดีและจุดที่ต้องได้รับการปรับปรุง วันนี้ กพฐ. ก็ได้มารับทราบ ให้ข้อเสนอแนะต่างๆ สอดรับกับที่ สพฐ. จะนำไปปฏิบัติต่อ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. โรงเรียนส่วนใหญ่มีความพร้อมน่าชื่นชม นักเรียน ครู ทุ่มเท มีเครือข่ายรอบโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ก็มีความเข้มแข็งเป็นอย่างดี ด้านการจัดการเรียนการสอนก็พบว่ามีคุณภาพ มีพื้นฐานดีมาก โดยเฉพาะการสอนให้เด็กได้คิดวิพากษ์ วิเคราะห์ ในส่วนนี้ทาง กพฐ. และ สพฐ. ก็จะนำไปปรับปรุงให้สอดรับกัน โดยเน้นการอ่านเขียน ต้องมีการคิดเชิงวิเคราะห์ให้มากขึ้นด้วย 2. การจัดคอนเทนต์ต่างๆ จะปรับปรุงให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มากยิ่งขึ้น มีการตรวจติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ 3. เมื่อไปเยี่ยมโรงเรียน พบว่ามีการลดภาระครู เช่น การอยู่เวร ก็ได้มาดูเรื่องการจัดอัตรากำลัง นักการภารโรงเข้ามาช่วยเสริมตรงนี้ ซึ่งต่อไปอาจจะนำครูและนักเรียนไปช่วยเหลือชุมชนสังคมมากขึ้น 4. จะมีการเสริมเรื่องของสื่อการสอนมากขึ้น เช่น DLTV ซึ่งมีประโยชน์กับทั้งนักเรียนและครู ด้วยเนื้อหาที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยครูต้นทางที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ยิ่งต่อไปเมื่อมีแพลตฟอร์มการศึกษาเข้ามาเพิ่ม ก็จะช่วยเติมเต็มให้การเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาเกิดขึ้นได้ทั้งระบบต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งสายผู้บริหาร สพฐ. และ กพฐ. ลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนครพนม รวม 6 คณะ เพื่อนำผลการลงพื้นที่ของแต่ละคณะมารายงานในที่ประชุม โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นหัวหน้าคณะตรวจเยี่ยมในสายที่ 6 ร่วมกับเลขาธิการ กพฐ. ด้วย โดยทั้ง 6 คณะ ประกอบด้วย คณะที่ 1 นำโดย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย กพฐ. นายอำนาจ วิชยานุวัติ และนายปราโมทย์ แก้วสุข ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านดงโชค โรงเรียนธารน้ำใจ โรงเรียนนครพนมวิทยาคม / คณะที่ 2 นำโดย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย กพฐ. ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และนางชลิดา อนันตรัมพร ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านขอนขว้าง โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม / คณะที่ 3 นำโดย นายศุภสิน ภูศรีโสม ผอ.สนก. ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สตผ. พร้อมด้วย กพฐ. รศ.ศิริเดช สุชีวะ และนายสุรพล ทิพย์เสนา ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเซนต์ยอแซฟนครพนม โรงเรียนราษฎร์สามัคคี โรงเรียนเพียงหลวง 10 / คณะที่ 4 นำโดย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย กพฐ. นายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และนางศรินธร วิทยะสิรนันท์ ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม โรงเรียนบ้านโคกกลาง โรงเรียนบ้านฝั่งแดง (พระเทพวรมุนีอุปถัมภ์) / คณะที่ 5 นำโดยนางสาวสุชาดา สภาพงศ์ ผอ.สอ. พร้อมด้วย กพฐ. นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ และนายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านโพนบก โรงเรียนอนุบาลนครพนม โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองนครพนม (ยงใจยุทธ) และคณะที่ 6 นำโดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย กพฐ. นายวิสิทธิ์ ใจเถิง และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเรณูวิทยาคาร โรงเรียนธาตุพนม โรงเรียนนาแกพิทยาคม และโรงเรียนปลาปากวิทยา ตามลำดับ


ข่าวโดย : นางสาวฐิติมา ชาลีกุล

ที่มา >>>สพฐ. จับมือ กพฐ. ลงพื้นที่นครพนม ชื่นชมโรงเรียนมีคุณภาพ พร้อมเติมเต็มการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน | (obec.go.th)<<<


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น