วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 22/2567 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน สร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีสุขนั้น
สพฐ. จึงได้จัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. โดยตั้งเป้าหมายระดมความคิดเห็นจากผู้บริหารของแต่ละสำนักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันแบบ One Team เพื่อเร่งนำนโยบายไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานแก่ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ให้ทราบต่อไป
สำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 22/2567 ได้หารือข้อราชการที่สำคัญ อาทิ รายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย สพฐ. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคล การลดภาระการประเมินของสถานศึกษา การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา สพท. และ สพฐ. (ITA) การขับเคลื่อนโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) การขับเคลื่อนโครงการ สุขาดี มีความสุข การสรุปประเด็นคำถามจากการเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาคำของบประมาณฯ พ.ศ. 2568 การเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรมไมโลส่งเสริมทักษะการกีฬาในโรงเรียน (MILO School Sport Program Kick-off) การขับเคลื่อนโครงการวิจัยนโยบายการรับนักเรียนและการบริหารทรัพยากรที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบการศึกษา คุณภาพการศึกษา สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น