การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 47/2567

 

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 47/2567 โดยนำข้อสั่งการของ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช, นายพัฒนะ พัฒนทวีดล, นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้หารือประเด็นการจ้างลูกจ้างในสังกัด สพฐ. ทั้งในส่วนกลางและในเขตพื้นที่ โดย สพฐ. มีความเป็นห่วงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้าง จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงาน ก.พ. และกรมบัญชีกลาง ซึ่งอยู่ในระหว่างการรอคำตอบ แต่เนื่องจากเกิดผลกระทบกับลูกจ้างบางส่วนที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ล่าสุดทาง สพฐ. จึงได้ออกหนังสือกำชับไปยังเขตพื้นที่ทุกเขต ให้ทำสัญญาและจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในลักษณะของการจ้างเหมาบริการไปพลางก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างทุกคน หลังจากนั้นเมื่อได้รับคำตอบจาก ก.พ. และกรมบัญชีกลางแล้ว จะดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

.

เรื่องต่อมา คือ การติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ Thailand Zero Dropout ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าจนถึงวันนี้ ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ มีเด็กกลับเข้าสู่ระบบถึง 4 แสนกว่าคนแล้ว ในส่วนของ สพฐ. เองก็มีเด็กกลับเข้าระบบถึง 120,000 กว่าคน เป็นผลจากการที่เราทำงานเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดตนได้ไปเปิดงาน “Kick off กรุงเทพเป็นหนึ่ง “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout)” ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเป้าหมายคือต้องไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดย สพฐ. จะติดตามค้นหาพาเด็กกลับมาเรียน และหากเด็กไม่กลับมา เราก็จะนำการเรียนไปให้ถึงที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เราก็จะจัดสื่อการเรียนรู้และครูเข้าไปให้บริการที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

.

“นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2569 เพื่อเตรียมจัดทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ซึ่งปีนี้ตนได้เน้นย้ำในเรื่องของการทำงบประมาณแนวใหม่ ที่เป็นโครงการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตอบโจทย์การพัฒนาครู และสื่อการเรียนรู้ หรือนโยบายใหม่ๆ อาทิ นโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime นโยบายการลดภาระครูและนักเรียน หรือนโยบายเรื่องการทำ Portfolio Online ซึ่งในอนาคตเราอยากเห็นเด็กๆ ของเราเวลาไปเรียนต่อหรือสมัครงาน ไม่ต้องถือแฟ้มใหญ่ๆ ไป สามารถถือ Flash Drive, External HDD, หรือแผ่น DVD นำไปเปิดได้เลย หรือบางคนอาจจะฝากไว้ใน CLOUD ก็สามารถดึงออกมาใช้ได้เลย ซึ่งในปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไปเราจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน การทำสื่อการสอน การทำ Portfolio รวมทั้งเราจะดูแลสุขภาพนักเรียน โดยทำบัตรสุขภาพเด็กผ่านระบบออนไลน์ ที่มีข้อมูลของเด็กทั้งหมดว่าป่วยเป็นโรคอะไร มีปัญหาสุขภาพอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อมูลน้ำหนักส่วนสูง เพื่อให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้เป็นรายบุคคล ให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนให้ถึงห้องเรียนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นายทัตตกร จันทร์โม

ที่มา >>>สพฐ. กำชับเขตพื้นที่เร่งคลายทุกข์ลูกจ้าง เดินหน้าพาเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา พร้อมจัดงบประมาณแนวใหม่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |<<<

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น