การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 3/2568

 


วันที่ 21 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 3/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้หารือเรื่องความคืบหน้าการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักที่เกี่ยวข้องไปประชุมร่วมกับผู้ที่มีผลกระทบกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ทั้งสังกัดเอกชน อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตชด. หรือสำนักพระพุทธศาสนา ที่มีโรงเรียนในสังกัด โดยเชิญมาร่วมรับฟังความคิดเห็นว่าจะต้องมีการปรับแก้อะไรบ้าง หากเราปรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และปิดภาคเรียนวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณพอดี ก็จะมีผลดีในเรื่องของการจัดทำแผน การบริหารงบประมาณ การย้ายครู/ผอ.โรงเรียน ขณะที่เด็กนักเรียนก็จะมีเวลาปิดภาคเรียนที่ 1 มากขึ้น ทำให้เด็กได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ครูก็จะได้มีเวลาเตรียมการสอนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้
.
เรื่องต่อมา คือ เรื่องโครงการบริหารจัดการชั้นเรียนแบบช่วงชั้น (ครูช่วงชั้น) ซึ่งหมายถึงให้ครูติดตามเด็กขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยเริ่มต้นในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) ก่อน อย่างเช่น ปีนี้ครูสอนอยู่ ป.1 พอเด็กจบ ป.1 เลื่อนขึ้นไป ป.2 ครูก็จะเลื่อนชั้นตามเด็กขึ้นไปด้วย เพื่อให้ครูได้ดูแลติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของพัฒนาการเด็ก การอ่านการเขียน การเรียนการสอน รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ครูจะได้ดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มอบหมายให้ สพฐ. คิดหารูปแบบในการดำเนินการ โดยเราได้เปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจจะรับการบริหารจัดการแบบครูช่วงชั้นไปดำเนินการ และเป็นที่น่ายินดีว่าตอนนี้มีโรงเรียนต่างๆ สนใจสมัครเข้ามามากกว่า 2,000 โรงเรียนแล้ว ซึ่งต้องมีการเปรียบเทียบผลการวิจัยดูด้วยว่าการจัดการเรียนการสอนแบบครูช่วงชั้น กับการจัดการเรียนการสอนแบบปกติ แบบไหนจะเกิดพัฒนาการกับผู้เรียน และสร้างคุณภาพการศึกษาได้ดีกว่า เราก็จะเลือกวิธีที่เกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด
.
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 โดย สพฐ. ได้แจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัดแล้วว่า หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีส้มหรือสีแดงที่อยู่ในขั้นอันตราย ให้ผอ.โรงเรียนสามารถสั่งปิดโรงเรียนได้เลย โดยไม่ต้องรอ สพฐ. สั่งการ ซึ่งการปิดสถานศึกษาเป็นอำนาจของ ผอ.โรงเรียน ที่จะสั่งปิดได้ทันที และให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” อย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่องห้องน้ำเด็กอนุบาลที่โรงเรียนจังหวัดลำปางนั้น เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีเด็กอนุบาลถึง 534 คน จึงได้จัดห้องน้ำในลักษณะดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็ก โดยผ่านความเห็นร่วมกันของคณะครูและผู้ปกครอง ขณะที่ห้องน้ำนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ เป็นห้องน้ำปกติ ทั้งนี้ สพฐ. ได้สั่งการให้โรงเรียนดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงแผงที่กั้นให้มิดชิด แบ่งแยกเป็นสัดส่วน โดยยังคงมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเด็ก และสุขอนามัย ตามนโยบาย ”สุขาดี มีความสุข” ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
.
“ส่วนเรื่องการสอบ O-NET และ PISA นั้นก็ได้มีการเน้นย้ำมาโดยตลอด โดยมอบหมายให้สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ทำมาตรการจูงใจและรณรงค์ให้เด็กเข้ามาสอบ O-NET มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กสอบ O-NET ลดลง หรือบางคนสมัครแล้วไม่มาสอบ ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดเตรียมข้อสอบ รวมถึงเน้นย้ำเรื่องการสอบทุกอย่าง ทั้ง NT, RT, O-NET ที่จะเข้าไปเชื่อมโยงกับการสอบ PISA โดยเอาแนวข้อสอบ PISA มาใช้ในการสอบอื่นๆ ด้วย เพื่อวางพื้นฐานให้เด็กคุ้นเคยกับแนวข้อสอบ PISA และมีผลการสอบที่สูงขึ้น ส่วนเรื่องที่ครู Live Tiktok ขายสินค้านั้น เราไม่ได้มีการห้ามครูหารายได้เสริม เพียงแต่ให้ทำนอกเวลางาน เช่น หลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่ควรทำในเวลาราชการ รวมถึงการถ่ายคลิปวิดีโอหรือ Live ที่ติดหน้านักเรียน ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อ พ.ร.บ. PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562) ทั้งนี้ หากเป็นการถ่ายคลิปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ หรือเทคนิคการสอนต่างๆ ถือว่าสามารถทำได้ และสนับสนุน เพื่อจะได้เผยแพร่เนื้อหาความรู้ดีๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นายทัตตกร จันทร์โม

ที่มา >>>สพฐ. เดินหน้ารับฟังความเห็น เลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน พร้อมเสนอแนวคิดครูช่วงชั้น และเร่งแก้ไขห้องน้ำนักเรียน จ.ลำปาง – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน<<<

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น