การประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 16/2568



วันที่ 29 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 16/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
โอกาสนี้ ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยมีการสนับสนุนการจัดจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้กับโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ในภาคเรียนที่ 1/2568 จำนวน 1,061 แห่ง จำนวนครูผู้สอน 1,172 คน แบ่งเป็น ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียน 788 แห่ง จำนวน 847 คน และครูผู้สอนภาษาจีน ในโรงเรียน 273 แห่ง จำนวน 325 คน พร้อมทั้งได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการพัฒนาโรงเรียน ภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เมื่อวันที่ 24-27 เมษายน 2568 เพื่อให้สถานศึกษาได้สะท้อนภาพการดำเนินงาน สู่การวางแผนพัฒนาตนเองอย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานต้นสังกัดและเครือข่ายสนับสนุน สามารถวางแผนช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนได้ตามสภาพจริง ตามความต้องการ ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน 18 องค์ประกอบ และ 93 ประเด็นการพิจารณา ส่วนการดำเนินการต่อไป จะมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโรงเรียนเครือข่ายที่เดินทางไปเรียนรวมยังโรงเรียนคุณภาพ ภาคเรียนที่ 1/2568 และจะมีการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ของโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ อีกด้วย
.
เรื่องต่อมา คือการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียน โดยมีระบบจัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ให้ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบ อาชีพ และมีระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา การประเมินผลการศึกษาผ่านธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) โดยที่ประชุมได้พิจารณาการออกแบบกรอบแนวทางระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดรูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษาในระบบ รวมถึงสำรวจข้อมูลสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัยระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษาในระบบ เพื่อการเรียนรู้และสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ ในรูปแบบ Micro-credential ระดับมัธยมศึกษา และทดลองใช้ต้นแบบ prototype ระบบธนาคารหน่วยกิต เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือในประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) การพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน ให้มีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) และการเตรียมความพร้อมเพื่อการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดยมีความก้าวหน้าในการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหารและครู จำนวน 445,624 คน มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 437,567 คน อยู่ระหว่างการอบรม 98,567 คน และอบรมเสร็จแล้ว 339,121 คน ซึ่งจะดำเนินการให้ครบ 100% ต่อไป

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>https://www.obec.go.th/1063335<<<

ประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 15/2568

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 15/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

.

นายพัฒนะ กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การส่งต่อ การติดตามดูแล และการแก้ไข ซึ่งในส่วนของมิติการแก้ไข ได้มีการนำการเรียนไปให้น้องแล้ว 1,345 คน (ชั้นประถมฯ 233 คน ม.ต้น 765 คน ม.ปลาย 347 คน) และมีการส่งต่อแล้ว 793 คน (ชั้นประถมฯ 165 คน ม.ต้น 395 คน ม.ปลาย 233 คน) พร้อมกันนี้ ได้มีการอบรมสร้างความรู้ “ระบบสารสนเทศการนำการเรียนไปให้น้อง OBEC Zero Dropout” ให้แก่บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนในสังกัด จำนวน 5,000 กว่าโรง

.

ส่วนการดำเนินการต่อไป ได้เริ่มกิจกรรม “สงกรานต์นี้กลับบ้าน พาลูกหลานกลับมาเรียน” ใน 5 จุดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2568 ในลักษณะโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School จัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และเปิดรับสมัครเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียน จากนั้นจะมีการอบรม “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ online” 2 รุ่น ให้แก่โรงเรียนนำร่อง 939 โรงเรียน ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อกำกับ ติดตาม ให้ความรู้เรื่องรูปแบบการเรียน การสร้างสื่อสร้างสรรค์ และเมื่อเปิดภาคเรียนจะมีการติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และหารูปแบบวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อให้การนำการเรียนไปให้น้องมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป

.

“อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญ คือมาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 โดย สพฐ. ได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ฯและสถานศึกษาในสังกัด ให้มีมาตรการเตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียนเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน 2. ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน อาทิ กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน 100% การสอนซ่อมเสริม/ชดเชย เสริมทักษะเพิ่มเติมให้กับนักเรียน กิจกรรมแนะแนว (Coaching) เป็นต้น 3. ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ โดยประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสถานศึกษา ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม 4. ด้านการจัดสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดย สพฐ. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณฯ ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ทั้ง 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้นักเรียนได้ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง และ 5. ด้านแผนเผชิญเหตุ ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุในสถานศึกษา รวม 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย รวมถึงการตรวจตราเฝ้าระวังสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ให้เข้าถึงนักเรียนได้ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” ในทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมรับการเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวโดย : สุชัญญา ขมเทศ
ที่มา >>>สพฐ. เดินหน้าพาเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา พร้อมกำชับสถานศึกษามีมาตรการปลอดภัยก่อนเปิดภาคเรียน – OBEC<<<