การประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 41/2567

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 41/2567 โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ รวมถึงที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน สร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีสุข โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน “ร่วมกันปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน” จึงขอความร่วมมือให้ทุกสำนักและเขตพื้นที่ เร่งรัดการดำเนินงานในความรับผิดชอบของตนเอง ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่เป้าหมายคือการยกระดับการศึกษาของประเทศ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

โดยการประชุมวันนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้นำข้อสั่งการของ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องของการเร่งสำรวจความเสียหายของสถานศึกษาในพื้นที่ตามประกาศภัยพิบัติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ประสบภัย โดย สพฐ. มีการประชุมจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด ได้รวบรวมข้อมูลเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณกรณีประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งในขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด กำลังรวบรวมข้อมูลในการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี 2567 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงบรายจ่าย อาทิ ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าครุภัณฑ์ ค่าปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร มายัง สพฐ. โดย สพฐ. ได้ทยอยจัดสรรเงินงบประมาณให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัดที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติแล้ว

รวมถึงการสำรวจข้อมูลความเสียหายของสถานศึกษาที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัย และต้องซ่อมแซมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นั้น สพฐ. ได้เร่งสำรวจความเสียหายของโรงเรียนในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งทางด้านความปลอดภัยของนักเรียน บุคลากร อาคารสถานที่ และทรัพย์สินของทางราชการ พร้อมดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาโรงเรียน และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูความเสียหาย โดยจัดทำแผนในระดับของเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนในภาพรวมของ สพฐ. พร้อมจัดหาแหล่งงบประมาณ เพื่อจัดสรรให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย ให้ได้รับการปรับปรุงและฟื้นฟูอาคารสถานที่อย่างเร่งด่วน

“สำหรับโรงเรียนที่ตัวอาคารไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน รีบเสนอเรื่องมาที่ สพฐ. เพื่อที่จะดำเนินการจัดหาสถานที่ในการเรียนการสอนแบบน็อกดาวน์ ให้เด็กได้มีสถานที่เรียน ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2567 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ข่าวโดย : นางสาวฐิติมา ชาลีกุล

ที่มา >>>สพฐ. เร่งฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ ให้ทันเปิดเทอม ย้ำ “เด็กต้องมีที่เรียน” – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน | (obec.go.th)<<<

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น