.
วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 43/2567 โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต รวมถึงที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน สร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีสุข โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน “ร่วมกันปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน” จึงขอความร่วมมือให้ทุกสำนักและเขตพื้นที่ เร่งรัดการดำเนินงานในความรับผิดชอบของตนเอง ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่เป้าหมายคือการยกระดับการศึกษาของประเทศ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
.
โดยการประชุมวันนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้นำข้อสั่งการของ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว รวมถึงได้แจ้งมติที่ประชุม กพฐ. ที่ได้ประชุมวาระพิเศษไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ซึ่งในเบื้องต้นใช้ชื่อว่า “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย” เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ โดยมติของ กพฐ. ได้มอบหมายคณะทำงาน สพฐ. ให้นำร่างกรอบหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและให้นำสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และทาง กพฐ. ได้พิจารณาว่าจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่นี้ในปีการศึกษา 2568 ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจ ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้น(ป.1-3)ก่อน และมีแผนขยายผลการใช้ให้ครอบคลุมระดับประถมศึกษาตอนปลาย(ป.4-6)และระดับมัธยมศึกษาต่อไป ในปีการศึกษา 2569 ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สพฐ. จะจัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
.
“นอกจากนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องการเสนอเกณฑ์การย้าย-บรรจุครู โดยทบทวนการกำหนดสัดส่วนการย้ายและบรรจุครูผู้สอน ซึ่งทาง สพฐ. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน ก.ค.ส. ขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โดยขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาเรื่องการกำหนดสัดส่วนอัตราว่างเพื่อใช้ในการรับย้ายและใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ ทั้งนี้ ให้ใช้อัตราว่างพิจารณารับย้ายก่อนการบรรจุและแต่งตั้งบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หากมีอัตราว่างเหลือหลังจากพิจารณารับย้ายและ/หรือบรรจุและแต่งตั้งแล้ว ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (แล้วแต่กรณี) พิจารณาใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีหนังสือแจ้งว่า สำนักงาน ก.ค.ศ ได้รับทราบการขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าวแล้ว และจะนำไปเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการฯ สำนักงาน ก.ค.ศ. จะแจ้งให้ทราบและนำไปปฏิบัติต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น